วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือผูก

หนังสือผูก คือ ใบลานที่จารเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมนิทาน เช่น เรื่องจำปาสี่ต้น นางผมหอม ท้าวก่ำกาดำ ท้าวขูลูนางอั้ว ฯลฯ เป็นต้น วรรณกรรมนิทานส่วนใหญ่ ประพันธ์เป็นกลอนลำนิยมนำมาขับลำในที่ประชุมชน ทำนองลำเรื่อง หรือลำพื้น ในสมัยอดีตงานทำบุญศพของชาวอีสานเจ้าภาพจะหานักขับลำมาอ่านหนังสือผูก เรียกกันว่า “อ่านหนังสือในบุญงันเฮือนดี” หนังสือผูก(หนังสือใบลาน) เป็นหนังสือที่ใช้แผ่นใบของต้นลาน ซึ่งเป็นต้นปาล์มชนิดหนึ่งแทนแผ่นกระดาษบันทึกหรือจารอักษร ต้นลานเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีแผงใบคล้ายใบตาล ชาวอินเดียเรียกแผนใบตาลว่า “ตาลปัตร” ใบลานที่เหมาะกับการจารึกอักษรคือใบลานใบอ่อน ซึ่งเพิ่งคลี่กลีบใบกลีบหนึ่ง ๆ มีความกว้างประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๑ เมตร แต่เมื่อใช้จารึกจะตัดเอาความยาวเพียง ๕๕- ๖๐ เซนติเมตร หรือ ๑ ศอก ๑ คืบ เท่านั้น วิธีการบันทึกอักษรลงใบลาน เรียกอีกอย่างหนึ่ง “การจารอักษร” การจารอักษรนั้นต้องใช้เหล็กปลายแหลมคล้ายเข็มเย็บผ้า เรียกว่า "เหล็กจาร" เขียนตัวอักษรลงไปในเนื้อใบลาน ระวังไม่ให้ปลายเข็มแทงทะลุแผ่นใบลาน เมื่อจารเสร็จแล้วก็จะเอาเขม่าไฟผสมน้ำมันยางทาให้ทั่วแผ่น เนื้อเขม่าสีดำก็จะฝังลงในร่องตามรอยจารึก เมื่อเอาเศษผ้านุ่น ๆ เช็ดเขม่าออกจากใบลานก็จะมองเห็นตัวอักษรสีดำ ที่เกิดจากเนื้อเขม่าฝังตัวอยู่ในรอยจารึกนั้นอย่างชัดเจน และเมื่อเขม่าแห้งก็จะติดอย่างทนทานถาวรอยู่ในร่องจารึกนั้น แผ่นใบลานขนาด ๕-๖ x ๕๐-๖๐ เซนติเมตร แผ่นหนึ่งๆ ใช้จารึกอักษรได้ ๔-๕ บรรทัด และจารึกได้ทั้ง ๒ หน้า หนังสือผูกหนึ่ง ๆ มักใช้ใบลาน ๒๔ แผ่น แต่อาจมีบางผูกมีจำนวนแตกต่างกันไป เมื่อจะรวมแผ่นใบลานที่จารึกเสร็จแล้วเป็นเล่ม ต้องเจาะรูที่หัวท้ายแผ่นของทุกใบให้รูตรงกันแล้วร้อยรวมกันเป็นเล่มด้วยเชือกฟั่นจากเส้นฝ้าย เรียกว่า "สายสนอง" เรียกหนังสือแต่ละเล่มว่าเป็นหนังสือ ๑ ผูก

http://www.bl.msu.ac.th/bailan/kom.asp

ไม่มีความคิดเห็น: