วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ OTOP ขนุนอบกรอบมิ่งมงคล

ความเป็นมาของผลิตภัณฑ์
คุณสายันต์ ทรัพย์เจริญ เดิมเป็นคนอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบอาชีพ ทำสวน
หมาก กับครอบครัว ต่อมาในปี พ.ศ.2503 ได้มาซื้อที่ดินที่ ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเริ่มต้นประกอบอาชีพเป็นของส่วนตัว โดยอาศัยประสบการณ์จากการทำสวนหมาก สวนมะพร้าวมาก่อน และมีความสนใจในการทำสวนทุเรียน เพราะสมัยนั้นทุเรียนมีราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เนื่องจากไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำสวนทุเรียน และไม่ได้เข้าไปปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านการเกษตร ประกอบกับเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้ามากมายนัก ทำให้ไม่สามารถที่จะดูลักษณะใบของต้นทุเรียนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นทุเรียนพันธุ์อะไร เมื่อปลูกไปแล้ว จึงทราบว่าต้นทุเรียนที่ปลูกไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ทำให้การจำหน่ายผลผลิตไม่ได้ราคาเพราะเป็นพันธุ์ที่ไม่นิยมของตลาด เมื่อประสบปัญหาในเรื่องของพันธุ์ต้นทุเรียนดังกล่าว คุณสายันต์ จึงได้หาวิธีการแก้ปัญหาของพันธุ์ทุเรียนที่ไม่ตรงสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการนั้น ด้วยวิธีการเปลี่ยนยอดของต้นทุเรียนใหม่ โดยการนำต้นพันธุ์ทุเรียนสายพันธุ์อื่นมาต่อยอดเข้ากับต้นเดิมตามวิธีการทางการเกษตร
ในปี พ.ศ.2522 ก็เริ่มประสบปัญหาต้นทุเรียนเป็นโรคโคนเน่า ทำให้ต้นทุเรียนตาย และเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหาพืชชนิดอื่น ๆ มาทดแทนต้นทุเรียน โดยหันมาปลูกลองกอง
ทดแทน ในปี พ.ศ. 2517 นายสายันต์ ทรัพย์เจริญ ได้ไปซื้อที่ดินที่ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เมื่อการทำสวนทุเรียนประสบความล้มเหลว ดังนั้น จึงเล็งเห็นและริเริ่มที่จะต้นปลูกขนุน และได้ไปขอคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตร ในการคัดเลือกสายพันธุ์ของขนุนที่ดี ได้แก่ ขนุนพันธุ์ทองสุดใจ และขนุนพันธุ์จำปากรอบ ซึ่งในขณะนั้นการทำสวนขนุนยังไม่ได้รับความนิยม หลังจากนั้นขนุนที่ปลูกประสบปัญหาอีก ขนุนยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง จึงจำเป็นต้องให้พ่อค้าคนกลางทดลองนำผลผลิตของตนไปขายก่อนเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นพ่อค้าคนกลางได้เห็นคุณภาพของสินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาด ณ เวลานั้น พ่อค้าคนกลางจึงซื้อผลผลิตขนุนไปจำหน่ายต่อ ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ต่อมา ผลผลิตขนุนในประเทศได้ประสบปัญหาราคาตกต่ำ คุณสายันต์จึงคิดหาวิธีการที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ไขปัญหาขนุนราคาตกต่ำ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยการนำขนุนมาแปรรูปให้จัดเก็บอยู่ได้นานขึ้น ด้วยวิธีการนำขนุนมาทอดแล้วนำมาอบกรอบจึงได้เป็น “ขนุนอบกรอบ” จำหน่ายอยู่ถึง ปัจจุบัน
- ประเภทผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหาร

- ชื่อผลิตภัณฑ์ ขนุนอบกรอบมิ่งมงคล

- ผู้ผลิต นายสายันต์ ทรัพย์เจริญ

- สถานที่ตั้ง บ้านเลขที่ 383 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว

- หมายเลขโทรศัพท์ 089-5433999

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือผูก

หนังสือผูก คือ ใบลานที่จารเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมนิทาน เช่น เรื่องจำปาสี่ต้น นางผมหอม ท้าวก่ำกาดำ ท้าวขูลูนางอั้ว ฯลฯ เป็นต้น วรรณกรรมนิทานส่วนใหญ่ ประพันธ์เป็นกลอนลำนิยมนำมาขับลำในที่ประชุมชน ทำนองลำเรื่อง หรือลำพื้น ในสมัยอดีตงานทำบุญศพของชาวอีสานเจ้าภาพจะหานักขับลำมาอ่านหนังสือผูก เรียกกันว่า “อ่านหนังสือในบุญงันเฮือนดี” หนังสือผูก(หนังสือใบลาน) เป็นหนังสือที่ใช้แผ่นใบของต้นลาน ซึ่งเป็นต้นปาล์มชนิดหนึ่งแทนแผ่นกระดาษบันทึกหรือจารอักษร ต้นลานเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีแผงใบคล้ายใบตาล ชาวอินเดียเรียกแผนใบตาลว่า “ตาลปัตร” ใบลานที่เหมาะกับการจารึกอักษรคือใบลานใบอ่อน ซึ่งเพิ่งคลี่กลีบใบกลีบหนึ่ง ๆ มีความกว้างประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๑ เมตร แต่เมื่อใช้จารึกจะตัดเอาความยาวเพียง ๕๕- ๖๐ เซนติเมตร หรือ ๑ ศอก ๑ คืบ เท่านั้น วิธีการบันทึกอักษรลงใบลาน เรียกอีกอย่างหนึ่ง “การจารอักษร” การจารอักษรนั้นต้องใช้เหล็กปลายแหลมคล้ายเข็มเย็บผ้า เรียกว่า "เหล็กจาร" เขียนตัวอักษรลงไปในเนื้อใบลาน ระวังไม่ให้ปลายเข็มแทงทะลุแผ่นใบลาน เมื่อจารเสร็จแล้วก็จะเอาเขม่าไฟผสมน้ำมันยางทาให้ทั่วแผ่น เนื้อเขม่าสีดำก็จะฝังลงในร่องตามรอยจารึก เมื่อเอาเศษผ้านุ่น ๆ เช็ดเขม่าออกจากใบลานก็จะมองเห็นตัวอักษรสีดำ ที่เกิดจากเนื้อเขม่าฝังตัวอยู่ในรอยจารึกนั้นอย่างชัดเจน และเมื่อเขม่าแห้งก็จะติดอย่างทนทานถาวรอยู่ในร่องจารึกนั้น แผ่นใบลานขนาด ๕-๖ x ๕๐-๖๐ เซนติเมตร แผ่นหนึ่งๆ ใช้จารึกอักษรได้ ๔-๕ บรรทัด และจารึกได้ทั้ง ๒ หน้า หนังสือผูกหนึ่ง ๆ มักใช้ใบลาน ๒๔ แผ่น แต่อาจมีบางผูกมีจำนวนแตกต่างกันไป เมื่อจะรวมแผ่นใบลานที่จารึกเสร็จแล้วเป็นเล่ม ต้องเจาะรูที่หัวท้ายแผ่นของทุกใบให้รูตรงกันแล้วร้อยรวมกันเป็นเล่มด้วยเชือกฟั่นจากเส้นฝ้าย เรียกว่า "สายสนอง" เรียกหนังสือแต่ละเล่มว่าเป็นหนังสือ ๑ ผูก

http://www.bl.msu.ac.th/bailan/kom.asp

นิทานจำปาสี่ต้นคนคลองน้ำใสอรัญประเทศ

นิทานเรื่อง จำปาสี่ต้น หนังสือผูกเรื่อง จำปาสี่ต้น พบที่ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จารึกบนใบลานด้วยอักษรไทยน้อย เป็นนิทานเลียนแบบชาดก เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า
สมัยหนึ่งนานมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งซึ่งตามภาษาลาวเรียกกันว่า เจ้ามหาชีวิต พระองค์ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระองค์มีมเหสี ๒ องค์ คือ มเหสีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย วันหนึ่งมีพรานได้เข้ามากราบทูลว่ามีโขลงช้างป่าเข้ามาในพระราชอาณาเขต ซึ่งตามปกติแล้วก็มักจะต้องเสด็จออกไปคล้องช้างด้วยพระองค์เอง แต่ในระยะนั้นมเหสีฝ่ายขวากำลังจะประสูติ พระองค์ทรงเป็นห่วง แต่ในที่สุดก็ทรงตัดสินใจออกจากพระนครไปคล้องช้างป่าโขลงนั้น เมื่อพระองค์เสด็จไปได้เพียงสามวัน มเหสีฝ่ายขวาก็ประสูติโอรสออกมาถึงสี่องค์ มเหสีฝ่ายซ้ายทราบเรื่องก็อิจฉา คิดอุบายโดยสั่งให้คนสนิทไปหาลูกสุนัขที่ออกใหม่มาสี่ตัว แล้วลอบเข้าไปสับเปลี่ยน
ส่วนโอรสทั้งสี่นั้นนางให้เอาไปใส่แพลอยน้ำไป เมื่อเจ้ามหาชีวิตเสด็จกลับพระนครได้ทราบเรื่องไม่ได้ทรงสอบสวนเรื่องราว ทรงขับไล่มเหสีฝ่ายขวาออกจากพระนคร เพราะถือว่าเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ฝ่ายโอรสทั้งสี่ได้ถูกหญิงชราชื่อ แม่คำพา พบเข้าและนำกลับไปเลี้ยงด้วยความยินดีเนื่องจากนางไม่มีบุตร นางได้เลี้ยงดูโอรสทั้งสี่อย่างดีเหมือนกับบุตรของนางเอง วันหนึ่งมเหสีฝ่ายซ้ายรู้ว่าโอรสทั้งสี่นั้นยังไม่ตาย จึงให้คนสนิทเอายาพิษไปให้โอรสทั้งสี่กินจนเสียชีวิต นางคำพาเสียใจมาก นางได้ฝังร่างของโอรสทั้งสี่ไว้ในสวน และในไม่ช้าก็มีต้นจำปาสี่ต้นเจริญเติบโตขึ้นเหนือหลุมฝังศพทั้งสี่ เมื่อมเหสีฝ่ายซ้ายทราบเรื่องต้นจำปาทั้งสี่ นางได้สั่งให้ทหารไปโค่นต้นจำปานั้นลงและสั่งให้เอาไปโยนทิ้งน้ำ ขณะที่ต้นจำปาทั้งสี่ลอยไปตามน้ำ พระภิกษุรูปหนึ่งผ่านมาพบและเห็นว่าต้นจำปายังสดอยู่จึงเก็บเอาขึ้นมาจากน้ำ แต่เมื่อเด็ดดอกจำปาออกจากกิ่งแทนที่จะมีน้ำหรือยางไหลออกมา กลับกลายเป็นเลือดสด ๆ ไหลรินออกมาจากก้าน พระภิกษุองค์นั้นจึงไปหาฤาษีเล่าเรื่องให้ฟัง ฤาษีนั่งทางในก็รู้เรื่องราวโดยตลอด จึงทำน้ำมนตร์รดต้นจำปาทั้งสี่ ต้นจำปานั้นกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ฤาษีก็สั่งสอนศิลปะวิทยาการต่าง ๆให้ เมื่อทั้งสี่เล่าเรียนวิชาสำเร็จแล้วก็กราบลาพระฤาษีออกเดินทางไปหาพระบิดา เมื่อมาถึงพระนครก็ให้คนเข้าไปกราบทูลพระราชาว่าโอรสทั้งสี่ของพระองค์กลับมาแล้ว พระราชากริ้วมาก เพราะยังทรงเข้าพระทัยผิดว่ามเหสีฝ่ายขวาประสูติออกมาเป็นสุนัข จึงมีรับสั่งให้ทหารออกไปจับตัว แต่ไม่มีทหารคนไหนสู้กับโอรสทั้งสี่ได้ ทหารจึงเข้าไปกราบทูลพระราชาทำให้พระองค์ทวีความโกรธมากขึ้น จะเสด็จออกรบด้วยตัวเอง แต่เมื่อเจ้ามหาชีวิตยิงธนู ลูกธนูที่ยิงไปนั้นกลับกลายเป็นขนมไปสิ้น ครั้นชายทั้งสี่ยิงธนู ลูกธนูกลับกลายเป็นดอกไม้ พระราชาเห็นดังนั้น ทรงแน่พระทัยว่าชายหนุ่มทั้งสี่นั้นเป็นโอรสของพระองค์เป็นแน่ เทพยดาจึงได้ดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ประหลาดเช่นนี้ เมื่อสอบถามเรื่องราวทั้งหมดแล้วก็ให้คนไปรับมเหสีฝ่ายขวากลับเข้าวัง ส่วนมเหสีฝ่ายซ้ายถูกขับไล่ออกไปอยู่นอกพระนคร ตั้งแต่นั้นทั้งหมดได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุข (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, ๒๕๔๕ : ๑๒๒- ๑๒๓)

ประวัติชุมชนคนคลองน้ำใส อรัญประเทศ

ประวัติความเป็นมา
ต้นตระกูลของชาวตำบลคลองน้ำใส ก็คงจะเป็นต้นตระกูลเดียวกับชาวอรัญประเทศ จะอพยพมาจากถิ่นเดิมในสมัยใดแน่ ไม่มีใครยืนยัน เพราะคนตำบลคลองน้ำใสรุ่นเก่าได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ไม่มีใครบันทึกไว้เป็นหลักฐานแน่นอน คงได้ความจากคนเฒ่าคนแก่รุ่นหลังๆ เล่าต่อ ๆ กันมาว่า คนคลองน้ำใสอพยพมาจากเวียงจันทน์ แต่ก็มีคนแก่บางคนเล่าว่า มาจากท่าอุเทน จะอย่างไรก็ตามท่าอุเทนกับเวียนจันทน์ก็อยู่ไม่ไกลกันนัก เมืองทั้งสองเมืองนี้ก็ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เวียงจันทน์ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายท่าอุเทนตั้งอยู่ฝั่งขวาเหนือเมืองนครพนม มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี สำเนียงพูด(ภาษา) เหมือนกัน สมัยนั้นท่าอุเทนคงสังกัดในแขวง เวียงจันทน์ คนที่พูดว่าอพยพมาจากเวียงจันทน์หรือพูดว่าอพยพมาจาก ท่าอุเทน ก็คงถูกด้วยกัน สันนิษฐานว่า ชาวตำบลคลองน้ำใส คงจะอพยพมาจากถิ่นเดิมในสมัย รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ส่งเจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ ปราบเจ้าเมืองเวียงจันทน์ชื่ออนุวงศ์ที่คิดกบฏต่อประเทศไทย ที่สามารถยกทัพมาตีเมืองไทย จนถึงเมืองนครราชสีมา (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา) เมื่อปราบเจ้าเมืองเวียงจันทน์เสร็จแล้ว ก็ได้อพยพคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไป และคนพื้นที่กลับมาเป็นจำนวนมากเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ในรัชกาลที่ ๓ คนแก่เล่าว่าในการอพยพครั้งนี้ อพยพมาด้วยกันเป็นจำนวนมาก มีทั้งเด็ก เด็กเล็ก คนชรา พระภิกษุ สามเณร การเดินทางลำบากมาก ต้องข้ามเขา ข้ามห้วย บุกป่า ฝ่าดง ทุระกันดารมาตลอดทาง อดอยากหิวโหยเพราะเสบียงอาหารที่นำมาขาดแคลนลง บางคนก็หมดเลย จำเป็นจะต้องหาอาหารมากินให้ได้เช่นหา ผลไม้ ผัก ปลา จับสัตว์ ตามแต่จะหาได้ เด็กเล็ก คนชราตายระหว่างเดินทางเป็นจำนวนมาก คณะเดินทางต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ต่อสู้กับความหิวโหย ต่อสู้กับความลำบากนานับประการ แต่ก็ช่วยเหลือกัน เอื้อเฟื้อกันมาจนตลอด คนแก่เล่าว่า ในจำนวนนี้มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นพระผู้ใหญ่มีคนนับถือมาก ชื่ออาจารย์สาระบุตร ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่นำคณะอพยพมา ท่านได้แต่งตั้งหน้ากลุ่มให้เป็นเจ้านายควบคุมแต่ละกลุ่มอีกชั้นหนึ่ง ดูแลและช่วยเหลือกันระหว่างเดินทางระหว่างดินทางมานั้นท่านอาจารย์สาระบุตร ท่านเห็นความลำบากของพี่น้องที่ร่วมเดินทางมาที่เป็นภาระแก่คนอื่น ท่านจึงตัดสินใจลาสิขาระหว่างทาง เมื่อลาสิขาแล้วก็ตั้งตัวเป็น หัวหน้าเดินทางต่อมา เมื่อท่านลาสิกขาแล้วมีโอกาสช่วยหมู่คณะได้มาก การเดินทางก็เร็วขึ้นเดินทางมาจนถึงท่าสวาย อำเภอศรีโสภณ ขณะนั้นอำเภอศรีโสภณอยู่ในความดูแลของประเทศไทยพากันพักอยู่ที่นั่น การพักอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ละ ๑๐ - ๒๐ ครอบครัว โดยมีหัวหน้าควบคุมเป็นหมู่ เป็นคลุ้ม แต่ละหมู่ แต่ละคลุ้มก็มีหัวหน้า ดูแล บริเวณที่พักอยู่นั้นเรียกว่าอรัญทุ่งแคหรือดงอรัญเก่า แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน นากระซาย แคด่อน กูบน้อย กูบใหญ่ วังม่วง ห้องพระโรง เป็นต้น การที่มาพักอยู่สองฝั่งของห้วยพรหมโหด ตั้งหลัก ปักฐานทำมาหากินมีลูกมีหลานแยกครอบครัวออกไปอีก ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าคน รุ่นเก่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ เพราะริมห้วยพรหมโหดนี้มีน้ำสมบูรณ์ มีปลา มีผัก เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏ ท่าน อาจารย์สาระบุตรมองเห็นว่า ห้วยพรหมโหดที่อยู่ทางทิศตะวันตกน่าจะอุดมสมบูรณ์มากกว่า จึงได้นำคณะอพยพจำนวนหนึ่งเดินทางมาทางทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ทางขวาของห้วยพรหมโหด เพื่อมาหาที่อยู่ใหม่อีกคณะหนึ่งอพยพมาทางซ้ายห้วยพรหมโหด ซึ่งเดินมาในเวลาใกล้เคียงกัน พอมาถึงบ้านหนองเอี่ยน พบสายน้ำใหม่สายหนึ่งซึ่งมี น้ำใสมาก สามารถมองเห็นตัวปลา และดิน คณะอพยพจึงแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ นำโดยท่านอาจารย์สาระบุตร เดินทางไปตามริมน้ำห้วยพรหมโหด จนถึงที่อยู่ใหม่ (บริเวณเมืองอรัญประเทศบันนี้) และพากันตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านอรัญทุ่งแค” โดยเอานามเดิมมาตั้งชื่อมีคำว่าทุ่งแคต่อท้าย เพราะหมู่บ้านที่มาตั้งอยู่ใหม่มีต้นแคฝอยเกิดอยู่เรียงราย และมีต้นหนึ่งสูงใหญ่ยืนเด่นอยู่ จึงเป็นสัญลักษณ์ ให้ชาวบ้านตั้งชื่อใหม่นี้ว่าบ้านอรัญทุ่งแค ต่อท้าย ภูมิประเทศที่พบใหม่นี้ นอกจากมีป่าไม้เหมาะแก่การทำนา ทำไร่แล้ว ลำน้ำห้วยพรหมโหด ต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (อำเภอวัฒนานคร) ไหลไปทางทิศตะวันออก มีน้ำท่วมขังตลอดปีจึงพากันสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นการถาวร และมาทราบทีหลังว่าบริเวณที่อยู่ใหม่นี้ อยู่ในความ ปกครองของประเทศไทย จึงอยู่ร่วมกันมาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข มาจนถึงทุกวันนี้
กลุ่มที่ ๒ ได้เดินทางมาตามสายน้ำคลองน้ำใส มีหัวหน้ากลุ่มนำมา มีชื่อดังนี้ ขุนพินิจโวหาร
ขุนพิจารณ์เจตน์ ขุนไตรเทศดาวเรือง ขุนเจ้าเมืองรักไพร่ มาพักอยู่ที่บ้านหมู่ที่ ๑ กุดเวียน หมู่ที่ ๒ ได้แก่บ้าน กุดเสทียนใต้ และเหล่าคาเหนือ หมู่ที่๓ ยางเดี่ยวเหล่าคาใต้นาน้อย หมู่ที่ ๔ ผักกาดฮอง หมู่ที่ ๕ ท่าเกด หมู่ที่ ๖ ทับไฮ ตามลำดับแต่ละกลุ่มที่มาอยู่จะมีป่าไม้ มีแหล่งน้ำเพื่อการครองชีพ กลุ่มที่อพยพมานี้ก็ถือว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ถือว่าตนเองเป็นคนไทยกลุ่มหนึ่ง แต่คนทั่วไปเรียกเขาว่า “ไทยญ้อ”
กลุ่มที่พักอยู่เหนือคลองน้ำใสนี้ เป็นกลุ่มใหญ่ มีประมาณ ๒๐ ครอบครัว เพราะเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ใน ห้วยน้ำใหญ่ มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า หมู่บ้านนี้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๗ ประชาชนปกครองกันเอง จึงเรียกบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านห้วยใสตั้งแต่นั้นมา
เมื่อประชาชนมาอยู่รวมกันก็จับจองที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย สร้างบ้านสร้างเรือนตามแต่จะหาได้มักจะปลูกที่พักอยู่ใกล้กัน ถางป่าดงออกเพื่อจะได้มองเห็นกัน ผู้ใดที่มีความรู้ ความฉลาด ความสามารถ ก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้า มีชื่อขุนนำหน้า เช่น คนใดที่มีคำพูดที่อ่อนหวานสามารถพูดคุยแนะนำหมู่คณะให้เชื่อฟังเคารพ และปฏิบัติตามได้ ก็จะได้รับการแต่งตั้ง จากหมู่คณะว่า ขุนพินิจโวหาร แต่ถ้าผู้ใดมีการพิจารณาดี รอบคอบช่างสังเกต วิเคราะห์เหตุการได้ดี ตามเหตุการณ์ที่เกิดก็จะได้รับแต่งตั้งจากหมู่คณะว่า ขุนพิจารณ์แจ้งเจตน์ แต่ถ้าท่านใดเป็นผู้มีความเคารพ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง สามารถเป็นมรรคนายกได้ ก็จะได้รับแต่งตั้งเป็น ขุนไตรเทศดาวเรือง ถ้าผู้ใดมี
กิริยาเรียบร้อย พูดจาอ่อนหวานเป็นที่รักของชาวบ้านมาก ก็จะได้รับแต่ตั้งเป็น ขุนเจ้าเมืองรักไพร่ หลังจากมาตั้งรากฐานมั่นคงแล้ว ตำแหน่งเหล่านี้ค่อยหายไปเพราะไม่มีการอพยพเคลื่อนย้าย ก็จะมีตำแหน่งใหม่เกิดขึ้น เช่น ในกลุ่มใด มีคนอายุมากเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรมสูง ลูกหลานเคารพนับถือก็จะเรียกว่า พ่อใหญ่ บางหมู่บ้านมีหลายคน เป็นพื้นฐานการปกครองเพื่ออบรมให้ ลูกหลานเป็นคนดี สามัคคีรักใคร่กลมเกลียวอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข การอพยพมาสู่ดินแดนตำบลคลองน้ำใส ขอแบ่งเหตุการณ์ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาเป็น ๓ ระยะดังนี้
ระยะที่ ๑ ประมาณปี ๒๓๗๖ อพยพมาจากบ้านอรัญทุ่งแค เดินตามห้วยพรหมโหด ทางด้านซ้าย พอมาถึงหนองเอี่ยน พบคลองน้ำใสมาชนกับห้วยพรหมโหดที่นั้น พบว่าน้ำใสมาก น้ำลึกมองเห็นพื้นดิน และน่าจะมีน้ำใช้ตลอดปี ไหลไปร่วมที่ห้วยพรหมโหด ผู้ที่อพยพมาพอใจ จึงตั้งที่พัก หมู่ที่ ๑ เรียกว่ากุดโดน อยู่ห่างจากบ้านหนองเอี่ยนประมาณ ๑ กม. ต่อมาเป็นบ้านหนองเอี่ยน หมู่ที่ ๒ เรียกว่ากุดเวียน อยู่ไปทางตะวันออกบ้านใหม่ปากฮ่อง ประมาณ ๑ กม. ต่อมาย้ายมาอยู่บ้านใหม่ปากฮ่อง หมู่ที่ ๓ บ้านกุดเสทียน บ้านเหล่าคาเหนือ อยู่ไปทางทิศใต้ของบ้านแสนสุข ประมาณ ๑ กม. ต่อมารวมกันเรียกว่าบ้านจุกหลุก ต่อมาเปลี่ยนเป็นบ้านแสนสุข หมู่ที่ ๔ บ้านเหล่าคาใต้ บ้านยางเดี่ยว บ้านนาน้อย อยู่ไปทางทิศใต้ของบ้านคลองน้ำใสประมาณ ๑ กม. ต่อมารวมกันทั้งสามบ้านห้วยใส ต่อมาเปลี่ยนเป็นบ้านคลองน้ำใส หมู่ที่ ๕ ผักกาดฮอง หมู่นี้เรียกชื่อตามผักชนิดหนึ่งเหมือนผักกาด เรียกผักกาดฮอง เมื่อปี ๒๕๒๓ ได้ย้ายมาอยู่บ้านจัดสรรเขาน้อย หมู่ที่ ๖ บ้านท่าเกด อยู่ห่างจากบ้าน สลองคองไปทางทิศใต้ประมาณ ๑ กม. ต่อมาย้ายมาอยู่เป็นบ้านสลองคอง เมื่อปี ๒๕๒๓ ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านจัดสรรเขาน้อย หมู่ที่ ๗ บ้านทับไฮ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านโนนกับบ้านสลองคอง บางคนเรียกบ้านฮำไฮ ต่อมา ย้ายไปอยู่บ้านโนนสาวเอ้
ระยะที่ ๒ ประมาณปี ๒๔๔๙ ประเทศฝรั่งเศสแสวงหาอาณานิคม ยึดได้ประเทศลาว และกัมพูชาทั้งประเทศ แต่โพธิสัตว์นครจำปาศักดิ์ เสียมราษฎร์ พระตะบอง ศรีโสภณ มงคลบุรี เป็นของประเทศไทย ดินแดนเหล่านี้คนไทยรัก และหวงแหนที่สุด เนื่องด้วยฝรั่งเศส เข้ายึดจังหวัดจันทบุรีของไทย โดยใช้เรือมาปิด อ่าวไทย และบังคับให้ไทยตอบภายใน ๒๔ ชั่วโมงในการให้คำตอบว่าทางประเทศไทยจะยกจังหวัดจันทบุรีให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้พระปรีชาสามารถในด้านการเจรจากับทางการทูตกับประเทศฝรั่งเศส โดยทรงขอเมืองจันทบุรีคืนแต่จะทรงยกเมืองโพธิ์สัตว์ นครจำปาศักดิ์ เสียมราษฎร์ พระตะบอง ศรีโสภณ มงคลบุรี ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส โดยพระองค์ทรงมีความคิดว่า “ เสียกำดีกว่าเสียกอบ เราจึงยอมเขาแต่โดยดีเพราะกำลังเราน้อยกว่า ” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสั่งให้คนไทยอพยพกลับประเทศ โดยตามประวัติมีการกล่าวว่า คนไทยที่มีการอพยพกลับเข้ามาในประเทศ นั้น มีการเข้ามากันในหลายๆ ทาง และหลายกลุ่ม โดยมีทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ โดยกลุ่มของชาวบ้านตำบลคลองน้ำใสได้มีการอพยพเข้ามาในทาง บ้านหนองเอี่ยน บ้านใหม่ปากฮ่อง บ้านแสนสุข บ้านคลองน้ำใส บ้านผักกาดฮอง และสลองคองโดยกลุ่มชาวบ้านที่อพยพเข้ามาในทางด้านนี้ ส่วนมากจะเป็นพี่น้องกัน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มีครอบครัวที่อพยพตามมาด้วยเป็นร้อย ๆ ครอบครัว ซึ่งมีเจ้าพระยาอภัยภูเบศน์ เป็นหัวหน้าคณะอพยพโดยมีการนำคณะเข้ามาทางคลองลึก และมีการแวะพักที่บ้านตุ่น และเดินทางไปจนถึงจังหวัดปราจีนบุรี ประชาชนที่อพยพเข้ามาในครั้งนี้มีทั้งชาวไทย ลาว ญ้อ ส่วย โซ่ และเขมรซึ่งในกลุ่มที่อพยพมาครั้งนี้มีความรักใคร่กลมเกลียวกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศน์มาก ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้อพยพตามมาเป็นเพราะมีความผูกพันว่าพื้นที่เดิมมีความสะดวกในการประกอบอาชีพและฝรั่งเศสได้มีการสำรวจประชากรใหม่ และมีการโอนสัญชาติไปในที่สุดจนถึงปัจจุบัน
ระยะที่ ๓ เป็นระยะที่เขมรแดงเรืองอำนาจ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๘ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศกัมพูชา ประกาศว่า ฝ่ายเขมรแดงนำโดย นายพอลพต สามารถยึดประเทศกัมพูชาไว้ได้โดยเด็ดขาดและมีการขับไล่รัฐบาลพร้อมทั้งมีการแต่งตั้งให้ นายพลอินตัม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่ง นายพลอินตัม มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์เขมรแดง และบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล ทั้งยังมีการตามฆ่าบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือฝ่ายเสรี และมีการตามฆ่าประชาชนกัมพูชาตายเป็นเรือนแสน ส่วนผู้ที่อยู่ไม่ได้ก็อพยพเข้ามาฝั่งไทย แต่ทางฝ่ายเขมรแดงยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านตามแนวตะเข็บชายแดนไม่เว้นแต่ละวันบ้างก็ถูกฆ่า บ้างก็ถูกจับ เมื่อประสบปัญหาเช่นนี้พี่น้องที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนจึงมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ไปหลายพื้นที่ เช่น บ้านแสนสุข ย้ายมาอยู่ฝากถนน บ้านคลองน้ำใส ย้ายไปอยู่โคกด่าน และได้แบ่งแยกออกเป็น ๓ หมู่ คือ บ้านคลองน้ำใส หมู่ ๑ บ้านคลองน้ำใส หมู่ ๖ บ้านคลองน้ำใส หมู่ ๙ และ บ้านทุ่งรวงทอง ในบางส่วนได้ย้ายเข้ามาอาศัยกับพี่น้องในเขตเทศบาล และส่วนสุดท้ายได้มีการย้ายไปอยู่ประเทศที่ ๓
การปกครอง
การปกครองในสมัยนั้น ผู้ปกครองเมืองจะถูกเรียกว่าเจ้าเมือง โดยตามประวัติเจ้าเมืองคนแรกที่ ดำรงตำแหน่ง( เขตตำบลคลองน้ำใส ) คือ ขุนพินิจโวหาร เป็นคนบ้านท่าเกด เจ้าเมืองคนที่ ๒ คือ ขุนเจ้าเมืองรักไพร เป็นคนบ้านห้วยใส ตระกูลเกตุสายเมือง ต่อมาการปกครองมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เรียกว่าตำบลคลองน้ำใส มีกำนันเป็นผู้ปกครองคนแรก คือ นายทึ้ง (ไม่ทราบนามสกุล) ปัจจุบันมีนายพรหมมา บัวคำศรี เป็นกำนันตำบลคลองน้ำใส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงในตำบลคลองน้ำใส
๑. พ.ศ. ๒๕๔๗ มี พ.ร.บ. การปกครองท้องถิ่นครั้งแรก
๒. เขตการปกครองตำบลคลองน้ำใส สมัยกำนันคำดี จันทร์แถมและ กำนันพุฒ แกมนิล มีเขตการปกครองถึง ๔๐ กว่ากิโลเมตร มีเขตปกครองตั้งแต่บ้านโคกสะแบง ถึง หมู่บ้านคลองหาด
๓. ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ตำบลคลองน้ำใสแบ่งออกเป็น ๒ ตำบล คือ ตำบลทับพริก และตำบลคลองน้ำใส (ในสมัยกำนันพุฒ แกมนิล) ตำบลคลองน้ำใสมีเขตปกครองตั้งแต่บ้านไผ่ล้อม ถึง บ้านโคกสะแบง และ ตำบลทับพริกมีเขตปกครองตั้งแต่คลองหาด ถึง บ้านไผ่ล้อม
๔. ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ตำบลคลองน้ำใสแบ่งออกเป็น ๒ ตำบล คือ ตำบลผ่านศึก และ ตำบลคลองน้ำใส ตำบลผ่านศึก มีเขตปกครองตั้งแต่บ้านไผ่ล้อม ถึงโรงเรียนนิคมสงเคราะห์ ๒ หมู่ที่ ๙ และหมู่ที่ ๑๐ ตำบลคลองน้ำใส มีเขตปกครองตั้งแต่บ้านใหม่ปากฮ่องถึงบ้านกุดหิน (ในสมัยกำนันพุฒ แกมนิล)

ข้อมูล คุณวิโรจน์ สุดจิต หมู่ ๒ ตำบลฟากห้วย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว